งานช่างประดับมุก คือ งานศิลปหัตถกรรมที่มีมาแต่โบราณเป็นงานช่างฝีมือที่ต้องใช้ทักษะในการฉลุเปลือกหอยมุก ประดับเป็นลวดลาย ที่ต้องใช้ความประณีตและมีระยะเวลาในการทำงาน ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มต้นขึ้นในสมัยใด แต่มีผลงานที่มีการใช้วิธีการฝังมุกประดับเป็นลวดลายตกแต่งบนปูนปั้นที่เจดีย์ในสมัยทวาราวดี ในสมัยเชียงแสนมีการฝังมุกที่พระเนตรของพระพุทธรูป และมีหลักฐานการประดับมุกหลายอย่างในสมัยอยุธยา ประเทศใกล้เคียงที่มีวิธีการประดับมุกคล้ายของไทย คือจีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม มุกที่นำมาประดับลวดลายคือเปลือกหอยทะเลที่มีประกายสีรุ้ง เป็นเปลือกหอยมุกมีสีวาววาม เช่น หอยนมสาว หอยจอบ หอยอูด เป็นต้น การประดับมุกนิยมประดับเป็นลวดลายบนภาชนะของสงฆ์และพระมหากษัตริย์ ซึ่งถือว่าเป็นของใช้ชั้นสูง ได้แก่ ตู้พระมาลัย ธรรมาสน์ ตะลุ่ม พานแว่นฟ้า ฝาบาตร กล่องใส่หมากพลู และประดับเป็นลวดลายบนบานประตูวิหาร บานประตูมณทป บานประตูพระอุโบสถ ลวดลายที่ใช้นิยมใช้ลายไทย เช่น ลายกนก ลายประจำยามก้ามปู ลายพุ่มทรงข้าวบิณฑ์ ลายกระจัง ลายก้านขด หรือลวดลายที่เป็นเรื่องจากวรรณคดี เช่น รามเกียรติ์ ซึ่งช่างประดับมุกจะต้องมีความชำนาญออกแบบลวดลายให้เหมาะสมสัมพันธ์กับรูปทรงของภาชนะหรือบริเวณว่างที่ต้องใช้ลวดลายมุกประดับ ให้มีความสวยงามกลมกลืนกัน
งานช่างประดับมุก นับได้ว่าเป็นงานศิลปหัตถกรรมที่ยอดเยี่ยมอีกชนิดหนึ่งในจำนวนหลาย ๆ ชนิดที่บรรพบุรุษของเราได้ใช้ความเป็นอัจฉริยะบรรจงสร้างสรรค์ขึ้น จนกล่าวได้ว่าไม่มีชาติใด ทำได้เทียบเท่าศิลปะแขนงนี้มีกำเนิดจากความคิดในทางตกแต่ง แม้ว่าจะงดงามมาก แต่ด้วยเหตุที่เป็นงานประณีต ผู้เป็นช่างจะต้องละเอียดและเยือกเย็นอย่างยิ่ง จึงทำให้เป็นงานที่สิ้นเปลืองเวลาและมีราคาสูงตามไปด้วย ดังนั้น งานช่างประดับมุกจึงนับวันมีแต่จะสูญหายไป ปัจจุบันนี้ถึงจะมีทำกันอยู่บ้างก็มีฝีมือ ไม่อาจเทียบได้กับของโบราณงานช่างประดับมุกนี้กล่าวได้ว่า เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของประเทศเพราะเกือบทั่วโลกไม่มีใครทำอย่างเราจะมีเพียงจีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม ใช้วิธีฝังมุกลงไปในเนื้อไม้ที่ย้อมสีดำ…เวียดนามมีการทำงานมุกสองวิธีคือ ฝังมุกลงไปในเนื้อไม้เหมือนจีนอย่างหนึ่งและถมพื้นเหมือนอย่างของไทยก็มีอยู่บ้าง ส่วนไทยเรานั้นใช้วิธีฝังมุกตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ ประดับลงบนพื้นที่ เตรียมไว้ใช้ชักเป็นตัวเชื่อมแล้วขัดจนเรียบเห็นลายมุก มุกที่เราอามาประดับลงบนของใช้ต่าง ๆ นั้น แท้จริงแล้วก็คือเปลือกหอยทะเลนิดที่มีประกายแวววาวนั่นเอง หอยที่เปลือกมีประกายแวววาวมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด เช่น หอยอูด หอยนมสาว หอยงวงช้าง หอยจอบ และหอยสองฝา ชนิดที่ให้ไข่มุก เป็นต้น แต่หอยที่นำมาประดับในผลงานชิ้นเยี่ยม ๆ ของไทยเรานั้น ศาสตราจารย์หลวงวิศาลศิลปกรรม (เชื้อ ปัทจินดา) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านศิลปไทยและสถาปัตยกรรมไทย กล่าวว่าส่วนใหญ่ใช้หอยอูดทั้งสิ้น หอยอูดตัวกลม ๆ คล้าย หอยโข่ง เมื่อนำเอามาขัดแล้วจะให้สีเป็นประกายรุ้งเลื่อมลายแพรวพราว เรียกกันตามภาษาพื้นบ้านว่า “มุกไฟ” มีอยู่มากในมหาสมุทรอินเดีย บริเวณเกาะภูเก็ต อ่าวไทยก็มีอยู่บ้างเหมือนกัน แต่ปัจจุบันนี้หาได้ยากแล้ว นับแต่สมัยโบราณการประดับมุกมักจะใช้ตกแต่งสิ่งที่เป็นของสูงของพระมหากษัตริย์และสถานที่เคารพบูชาทางศาสนาเป็นส่วนใหญ่ เช่น บานประตู บานหน้าต่าง พระอุโบสถ พระมณฑป พระวิหาร ในพระอารามหลวง ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงรวบรวมช่างสร้างขึ้นเป็นพุทธบูชาตามพระราชศรัทธาและพระราชประเพณีนิยม ในอันที่จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ทั้งนี้รวมถึงการประดับมุกบนภาชนะเครื่องใช้ของสงฆ์ เช่น ตู้พระมาลัย ธรรมาสาน์ ตะลุ่ม พานแว่นฟ้า ฝาบาตร กล่องใส่หมากพลู เป็นต้น งานช่างประดับมุกนี้ จะมีการริเริ่มทำกันมาตั้งแต่ครั้งใดไม่ปรากฏชัดแต่จากการขุดแต่งโบราณสถานที่ตำบลคูบัว อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี พบว่าเจดีย์สมัยทวาราวดีอายุประมาณ ศตวรรษที่ 12 มีการใช้มุกประดับเป็นลวดลายตกแต่งอยู่บนปูนปั้นนับได้ว่าเป็นหลักฐานเก่าที่สุดที่ได้พบจากสมัยเชียงแสนลงมามีการฝังมุกที่พระเนตรของพระพุทธรูป กระทั่งถึงสมัยอยุธยาจึงพบงานช่างประดับมุกชนิดใช้รักเป็นตัวเชื่อมเช่นปัจจุบัน ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมีตู้พระไตรปิฏกใบหนึ่ง ลวดลายงดงามมากบานประตูด้านขวาทำเป็นภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ บานประตูด้านซ้ายทำเป็นภาพพระนารายณ์ทรงสุบรรณผูกลายกนกสามตัวก้านขดปลายช่องกนกเป็นภาพกินรีรำ ราชสีห์ คชสีห์ ประกอบภาพทั้งสองบาน “สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ตรัสกับหลวงบริบาล บุรีภัณฑ์ในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญโบราณดีว่า ตู้ประดับมุกใบนี้ ตามลักษณะและลวดลายเป็นสมัยแผ่นดิน สมเด็จพระเจ้าเสือ” เมื่อเป็นแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเสือ ก็คงจะทำขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2256 – 2251 (ศิลปวัฒนธรรมเล่มที่ 6. 2525 : 45 – 46)
นอกจากนี้ วรรณรัตน์ อินทร์อ่ำ กล่าวถึงงานประดับมุกไว้ความว่า
ลายประดับมุกสมัยอยุธยาตอนปลายมีอยู่ 2 แบบ คือ ลายอีกปะในวงกลมเป็นรูปสัตว์หิมพานต์และลายก้านขดรักร้อยมีรูปเทพเจ้าหรือพระอินทร์ผสมอยู่ ภาชนะสิ่งของต่าง ๆ ที่ทำลวดลายประดับมุกในสมัยอยุธยาตอนปลาย นิยมทำเป็นของใช้สำหรับสงฆ์มากกว่าการทำของใช้ในชีวิตประจำวัน ภาชนะที่นิยมทำ เช่น ตู้ใส่หนังสือพระมาลัย พานตะลุ่ม กล่องใส่หมากพลู และบานประตู โบสถ์ วิหาร ปราสาท ราชวัง การประดับมุก ประดิษฐ์โดยช่างมุกซึ่งจัดอยู่ในหมู่ช่างรัก ปัจจุบันยังมีช่างประดับมุกเหลืออยู่ แต่งานประดับมุกไม่แพร่หลาย ทั้งนี้ด้วย ช่างมุกมีราคาสูง ลายที่นำมาใช้สำหรับประดับมุกนิยมลวดลายศิลปะไทยประเภท ตัวกนก กระจัง และภาพเรื่องราวในวรรณคดีภาชนะสิ่งของที่ประดับมุกถือเป็น ของมีคุณค่า มีราคาสูง และมีความสวยงามวิจิตรประณีต เป็นของใช้เพื่อเชิดชูความมีตำแหน่งฐานะมากกว่านำมาใช้ในชีวิตประจำวัน การประดับมุก เป็นงานประณีตศิลป์ ต้องใช้ความละเอียดอ่อนความตั้งใจของช่าง และใช้เวลาในการทำมาก จึงทำให้ภาชนะหรือสิ่งของที่ประดับมุกแต่ละชิ้นสิ้นเปลืองเวลามาก แต่ผลงานเมื่อสำเร็จ ก็คุ้มกับเวลาที่เสียไป (วรรณรัตน์ อินทร์อ่ำ. 2535 : 43 – 44)
การออกแบบลวดลายประดับมุก สิ่งสำคัญคือต้องออกแบบ หรือเลือกลายที่จะนำมาใช้ให้สัมพันธ์กับรูปทรงที่จะฝังมุก ต้องพิจารณาถึงลักษณะรูปทรง และบริเวณพื้นที่ที่จะใช้สำหรับประดับด้วย เพื่อให้ได้ลวดลายที่มีความงามเหมาะสมกับสิ่งที่จะประดับ ต้องพิจารณาถึงรูปแบบทรงกลม สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม มุกหัก เพื่อให้ได้ลวดลายเหมาะสมช่างประดับมุกจะมีต้นแบบลายที่สำเร็จไว้ดูเป็นแบบตัวอย่างลายประดับภาชนะเหลี่ยม นิยมประดับด้วย ลายไทย เช่นลายกระจัง ลายก้านขด ลายเครือเถา ใช้ลายในตัวที่จบลงในแต่ละตอน พื้นที่ที่ใช้ประดับมุกนิยมใช้พื้นไม้ ก่อนที่จะประดับมุกต้องเตรียมพื้นให้เรียบ ด้วยกระดาษทรายน้ำ อุดมบริเวณที่เป็นรูด้วยรักสมุก ทารัก อบด้วยความชื้นและขัดผิวให้เรียบ จนได้ความหนาของพื้นจึงเริ่มประดับลายมุก ลวดลายที่ออกแบบหรือเลือกไว้แล้ว จะลอกบนกระดาษลอกลายให้เรียบร้อย เหมือนต้นฉบับจริง แล้วลอกลายลงบนแผ่นมุกที่เตรียมไว้ หอยมุกตัวหนึ่งนำมาใช้ทำเป็นชิ้นมุกประดับได้ประมาณ 20 ตารางเซนติเมตร เปลือกหอยมุกแต่ละตัวไม่สามารถใช้ทำลวดลายได้ทั้งหมด ต้องเลือกเฉพาะเปลือกหอยที่มีผิวเรียบเสมอทั้งสองด้าน และต้องเอาเฉพาะบริเวณที่มีแสงมันวาววับซึ่งเรียกว่ามุกไฟ เมื่อต้องแสงจะเกิดประกายสวยงามเมื่อเลือกบริเวณเปลือกหอยได้แล้ว ต้องตัดออกเป็นชิ้นสี่เหลี่ยม 2 -3 เซนติเมตร นำไปฝนกับหินลับมีด จนพื้นหลังเรียบเสมอ สามารถวางบนพื้นได้ ให้ความหนาของเปลือกหอยมุกแต่ละชิ้นมีความสูงต่ำเท่ากัน และลอกลายลงบนแผ่นเปลือกหอยมุก นำเลือกหอยมุกทากาวตัดลงบนแผ่นไม้บางๆ ใช้ใบเลื่อยฉลุโลหะฉลุลายเปลือกหอย เมื่อได้แล้วแกะออก นำมาติดบนกระดาษ ลวดลายทันทีเพื่อรักษาแบบลายทั้งหมดให้คงที่ วิธีติดต้องติดด้านหน้าของชิ้นมุกลงกับกระดาษลาย เพราะด้านหลังจะเป็นส่วนที่ติดกับพื้นไม้ และเตรียมการ ประดับมุกต่อไป เมื่อเลื่อยฉลุลายจนครบหมดแล้ว ทารักชนิดแห้งเร็วบนพื้นรัก ที่เตรียมไว้แล้ว แล้วนำแผ่นกระดาษที่ติดลายมุก คว่ำลงให้ด้านหลังของมุกติด กับรักที่ทาไว้ ใช้มือกดลงไปเบา ๆ ให้เปลือกมุกแนบติดกับพื้น ทิ้งไว้ให้แห้งแล้วใช้ผ้าชุบน้ำปิดทับที่กระดาษติดลายเพื่อให้กาวละลาย แกะกระดาษลายออก จะเหลือแต่มุกที่เป็นลวดลายติดอยู่กับพื้นทารักทารักเพื่อถมช่องว่างระหว่างลายมุกหลายครั้ง ตามกรรมวิธี ทิ้งไว้ให้แห้งสนิท ใช้หินขัดผิวพื้นให้เรียบ ให้รักสึกลงเสมอกับผิวลายมุกและขัดต่อด้วยหินละเอียดหรือกระดาษทรายน้ำ การขัดผิวต้องมีน้ำหล่อเลี้ยงอยู่ตลอดเวลา ทิ้งไว้ให้แห้ง ใช้พู่กันขนนุ่มชุบน้ำมัน มะพร้าวทาบาง ๆ ในสมัยโบราณไม่ใช้พู่กันแต่ใช้ใบตองอ่อนตากแห้งทำเป็นย่อยแทนพู่กัน แล้วจึงขัดผิวหน้าให้ขึ้นเงาอีกครั้งหนึ่ง
งานศิลปะประดับมุกทั้งหมดที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น มีวิธีการทำดังตำราโบราณ ว่าไว้ดังนี้
– เริ่มต้นจะต้องจัดเตรียมวัตถุ หรือภาชนะที่จะประดับมุก ตามความต้องการนั้น ๆ
– ให้ช่างเขียน ๆ ลวดลายหรือภาพสำหรับเป็นแบบขึ้นให้เหมาะกันกับภาชนะหรือวัตถุที่จะกระทำคือ จะต้องวัดกะเนื้อที่ที่จะบรรจุลวดลายลงในพื้นที่ ให้ได้จังหวะและช่องไฟอันถูกต้องเหมาะสมกับที่นั้น ๆ ทั้งต้องรอบรู้วิธีของการกระทำด้วย
– เมื่อช่างเขียนได้เขียนลายเสร็จแล้ว ใช้กระดาษแก้วอย่างดีลอกลายที่เขียนนั้นให้ได้ผลเรียบร้อยเหมือนต้นฉบับจริง ๆ ลงไปบนสิ่งที่ต้องการประดับ
– ให้เตรียมจัดหอยมุกมาเลื่อยตัดออกเป็นชิ้น ๆ ขนาดประมาณ 2.5 ซม. หรือยาวกว่าก็ได้ แล้วแต่ความโค้งของมุกจะโค้งมากหรือน้อย นำมาฝนด้วยหินไฟเมื่อฝนเป็นแผ่นพอดีแล้ว จึงนำเอามุกติดกับแผ่นไม้โมกมัน (ไม้อื่นก็ได้) หนาประมาณ 1 เท่าของแผ่นมุก ไม้จะต้องไสกบให้เกลี้ยง ติดมุกด้วยกาว การเอามุกมาติดกับไม้นี้เป็นการช่วยไม่ให้ตัวลายมุกหักในขณะเลื่อย
– ลอกลายจากต้นแบบ โดยใช้กระดาษลอกอย่างบางอีกครั้งหนึ่งให้เหมือนต้นฉบับ แล้วกอปปี้หรือพิมพ์ ให้ลายติดกับแผ่นมุก วิธีใดวิธีหนึ่งก็ได้ แต้องให้เส้นลายเหมือนต้นฉบับนั้น ๆ
– การเลื่อยตัวลายมุก ใช้เลื่อยชนิดเล็กละเอียด หมายเลข 1 หรือหมายเลข 0 ก็ได้เมื่อเลื่อยออกเป็นตัวลายแล้ว ใช้ตะไบแต่งริมทั้งสองข้างให้เรียบร้อย ให้ตัวลายเหมือนต้นฉบับในกระดาษแก้วทั้งสิ้น
– มุกที่เลื่อยเป็นตัวลายหรือภาพเรียบร้อยทุกชนิด ต้องรีบประดับลงบนแผ่นกระดาษแก้วที่ได้ลอกลายจากต้นฉบับเดิมไว้ทันที โดยใช้ติดด้วยกาว ถ้าทิ้งไว้ช้าอาจลืมที่ที่จะประดับก็ได้
– การทำรัก วัตถุหรือภาชนะที่จะประดับมุกนั้น ต้องลงรักรองพื้นให้ทั่วครั้งหนึ่งทิ้งไว้ให้แห้ง
– เมื่อได้เลื่อยตัวลายมุกประดับติดบนแผ่นกระดาษแก้วเต็มส่วนของหน้ากระดาษพร้อมเรียบร้อยแล้ว ให้ลงรักบนวัตถุหรือภาชนะที่จะกระทำนั้นอีกครั้งหนึ่ง ใช้รักอย่างดีชนิดแห้งเร็วทาทับลงไปให้เสมอทั่วกัน ทิ้งไว้พอให้รักนั้นหมาดตัว และข้นเหนียวพอดี เอาแผ่นกระดาษแก้วที่ได้ประดับมุกนั้นมาทาบลงไป จงระวังให้แผ่นตัวลายที่ติดอยู่บนกระดาษแก้วนั้นลงไปแนบติดกับพื้นรักนั้น ๆ ทั่วกันแล้วใช้กระดาษหนา ๆ และเรียบ ๆ ค่อย ๆ กดลงไป เพื่อให้ตัวมุกติดกับพื้นรักนั้นแน่นและเรียบร้อย แล้วทิ้งไว้จนรักนั้นแห้งให้ลอกกระดาษแก้วที่ติดอยู่กับลายมุก ใช้น้ำชุบให้แห้งเปียกก็ลอกออกได้
– การลงรักถมในระหว่างพื้นลายมุกนั้น ใช้รักสมุก คือรักผสมกับถ่านใบตองหรือถ่านต้นหญ้าคา หรือเขม่าดำก็ใช้ได้ ถ่านทั้งสองอย่างนั้นก่อนใช้ต้องกรองให้ละเอียดเสียก่อน ใช้ไม้กลมหรือสากบดให้รักกับสมุกนั้นเข้ากันจนเหนียว และจนเนื้อรักนั้นแน่น เห็นว่าพอดีแล้วเอาเกลี่ยลงบนลายมุกที่ได้ประดับติดไว้ให้เต็มช่องพื้นนั้น ๆ โดยใช้เนียนไม้กวาดให้เรียบเสมอลงไปทั่วกันและทิ้งไว้ให้รักนั้นแห้งเมื่อรักสมุกที่ลงไว้แห้งทั่วกันแล้ว ใช้หินกากเพชรหรือหินที่คม ๆ ค่อย ๆ ขัดกับน้ำลงไปพอเห็นลายมุกเหลือง ๆ ยังมิให้ถึงเส้นลายมุกทีเดียว เมื่อขัดลงไปแล้ว ถ้าพื้นรักที่เกลี่ยไว้ยังเป็นหลุมเป็นบ่อไม่เต็มเสมอทั่วกัน ให้เกลี่ยรักเพิ่มลงไปจนเสมอเรียบร้อยแล้วทิ้งไว้ให้แห้งเมื่อแห้งสนิทแล้วให้ค่อย ๆ ขัดลงไปจนถึงลายเส้นมุก พอดี เมื่อขัดได้เสมอเรียบร้อยแล้ว ให้ขัดด้วยหินลับมีดโกนหรือถ่านไม้จนเรียบร้อย นับว่าเป็นการเสร็จสิ้น และต้องทิ้งไว้จนรักแห้งสนิทแล้วจึงใช้ขัดมันด้วยใบตองแห้งฉีกเป็นฝอย จุ่มน้ำมันมะพร้าวเล็กน้อย ขัดถูพอร้อน ๆ ก็ขึ้นมัน เป็นการเสร็จตามวิธีประดับมุกเพียงเท่านี้ (ศิลปวัฒนธรรม เล่มที่ 6. 2525 : 50 – 51)
– การทำลายประดับมุกของไทยโบราณถือได้ว่าเป็นงานช่างที่ต้องอาศัยฝีมือ ความละเอียดรอบคอบ และความมานะพยายามเป็นอย่างมาก เพราะลวดลายต่าง ๆ ของลายประดับมุกเป็นลายที่ละเอียด ช่างประดับมุกจะต้องอาศัยความสามารถความชำนาญในการสร้างแม่ลายให้เข้ากับสิ่งที่จะประดับมุก ไม่ว่าจะเป็นภาชนะหรือบานประตูหน้าต่าง ไปจนถึงโต๊ะเพียงก็ตาม ยิ่งถ้าเป็นภาชนะที่มีเหลี่ยม มีมุมโค้งเว้าด้วยแล้วการสร้างลาย และการประดับมุกไปตามส่วนนั้น ๆ ก็ยิ่งกระทำได้ยากอย่างไรก็ตาม ช่างประดับมุกของไทยก็ได้สร้างลวดลายประดับมุกต่าง ๆ ที่มีคุณค่าทั้งความงามและคุณค่าทางฝีมือไว้มาก ดังจะเห็นได้จากลายประดับมุกตามที่ต่าง ๆที่ยังเหลืออยู่ การทำลายประดับมุกที่นิยมทำกันในอดีต โดยทั่วไปมักจะเป็นลายไทย ๆ ส่วนจะเป็นลายอะไรนั้นขึ้นอยู่กับภาชนะ และความเหมาะสมของวัสดุที่จะนำมาประดับมุก ถ้าเป็นพวกภาชนะที่เป็นเหลี่ยมเป็นกล่อง หรือภาชนะกลม ๆ ที่มีความโค้งเว้ามากก็มักเป็นลวดลายธรรมดา ๆ เช่น ลายกนก ลายก้านขด ลายกระจัง เป็นต้น แต่ถ้าหากวัสดุที่ประดับมุกเป็นพื้นเรียบมีเนื้อที่มาก เช่น บานประตูหน้าต่าง โบสถ์ วิหาร มณฑป หรือบานประตูปราสาทราชวัง มักจะทำเป็นลวดลายเป็นเรื่องเป็นราวตามเรื่องรามเกียรติ์ เช่น บานประตูโบสถ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ท่าเตียน ลวดลายประดับมุกที่บานประตูโบสถ์จะพิสดารกว่า การประดับมุกในที่อื่น ๆ เพราะนอกจากจะเป็นการประดับมุกที่มีฝีมือประณีตแล้วยังเป็นการนำเรื่องราวจากวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์มาจารึกไว้ด้วยการประดับมุก แม้จะเป็นเพียงเรื่องราวบางตอนก็ตาม แต่ก็พอจะทำให้มองเห็นได้ว่า ช่างมีความสามารถและมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งที่นำเอาเรื่องราวจากวรรณกรรมมาผสมผสานเข้ากับงานช่างที่เป็นทัศนศิลป์ได้เป็นอย่างดี (วิบูลย์ ลี้สุวรรณ. 2525 : 90 – 92)
Pearl Princess Gem : ห้างขายไข่มุกและเพชรพลอย
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม ได้ที่
โทร : 086-4881174
Email : pearlprincessgem@hotmail.com
Website : www.PearlPrincessGem.com
Facebook Fanpage : https://www.facebook.com/pages/Pearl-Princess-Gem/152698291490964
Line ID: pearlstore
Instagram : pearl_princess_gem